
โครงการช้างบำบัด ภาควิชากิจกรรมบำบัด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, The Asian Elephant Foundation, คณะสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย จังหวัดลำปาง จัดกิจกรรมช้างบำบัดสำหรับเด็กพิเศษ เพื่อเทิดพระเกียรติพระปิยมหาราช ครั้งที่ 9 เนื่องในวันช้างไทย และ CMU Research Expo Exhibition เพื่อให้บริการการบำบัดช่วยเหลือแก่เด็กออทิสติก เด็กดาวน์ซินโดรม และเด็กที่มีสมาธิสั้นและอยู่ไม่นิ่ง ระหว่างวันที่ 10 – 12 มีนาคม 2557 (กิจกรรมสัมผัสโปรแกรมช้างบำบัด 3 วัน) ทั้งนี้โครงการช้างบำบัดฯ และผู้บริหารมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างเสริมประสบการณ์ทางสังคมแก่เด็กพิเศษ เพื่อลดปัญหาด้านการสื่อความหมาย การดูแลตนเอง และการมีส่วนร่วมทางสังคม ซึ่งกิจกรรมโครงการช้างบำบัดมีวัตถุประสงค์เพื่อ เพิ่มทักษะการรับรู้ การเรียนรู้ ตลอดจนทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น และเพื่ออนุรักษ์ช้างไทยและยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของช้างไทย
การจัดกิจกรรมช้างบำบัดสำหรับกลุ่มเด็กพิเศษ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จพระปิยมหาราช ครั้งที่ 9 มีผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทั้งหมดจำนวน 54 คน เป็นเด็กพิเศษ จำนวน 9 คน ประกอบด้วย เด็กเพศชายจำนวน 6 คน และเด็กเพศหญิงจำนวน 3 คน โดยจัดกิจกรรมแบบเข้มข้น ให้การบำบัดรักษาตลอดวัน กิจกรรมที่ให้ประกอบด้วย
1. กิจกรรมซื้ออาหารให้ช้าง
|
เด็กวางแผนซื้ออาหารช้าง ขอเงินจากผู้ปกครอง เรียนรู้การใช้เงิน และขั้นตอนการซื้อสิ่งของ
|
2. กิจกรรมให้อาหารช้าง
|
เด็กหิ้วตะกร้าอาหารที่ซื้อ ไปวางใกล้ตัวช้าง จากนั้นเลือกและป้อนอาหารช้างโดยการให้อาหารที่งวงช้าง เพื่อเพิ่มสมาธิ และอาหารสมองที่ได้จากการสัมผัสพื้นผิวอาหารที่มีลักษณะหลากหลาย เช่น กล้วย ข้าวโพด มะขามเปียก เมล็ดทานตะวัน และคอนเฟล็ค
|
3. กิจกรรมอาบน้ำช้าง
|
เด็กเรียนรู้การใช้อุปกรณ์ในการอาบน้ำ และขั้นตอนวิธีการอาบน้ำให้ช้าง ฝึกบทบาทการเป็นผู้ดูแลแทนการเป็นผู้ถูกดูแล และส่งเสริมการบูรณาการประสาทรับความรู้สึก
|
4. กิจกรรมขึ้น-ลงช้าง และ กิจกรรมขี่ช้าง
|
เด็กเรียนรู้ขั้นตอนและลำดับการเคลื่อนไหวในการขึ้น - ลงช้าง วิธีการนั่งบนคอช้าง การวางมือที่หัวช้าง และวิธีการออกคำสั่ง เพื่อให้ช้างปฏิบัติตาม
|
5. กิจกรรมเล่นเกมกับช้าง
|
เด็กร่วมเล่นเกมกับช้าง เรียนรู้กฎ กติกา การมีส่วนร่วมทางสังคม และเพิ่มการมีปฏิสัมพันธ์กับสัตว์และบุคคลรอบข้าง
|
6. กิจกรรมกลุ่ม
|
เด็กร่วมเล่นเกมที่มีลักษณะหลายหลายกับเพื่อนเป็นกลุ่ม เพื่อฝึกการเรียนรู้กฎ กติกาที่ใช้ในแต่ละเกม เพิ่มทักษะการเข้าสังคม การสื่อสาร รวมทั้งเพิ่มสมาธิ การแก้ไขปัญหา และการมีปฏิสัมพันธ์ภายในกลุ่มเพื่อน
|
7. กิจกรรมศิลปะช้าง
|
เด็กทำงานศิลปะต่าง ๆ ที่มีช้างเป็นสื่อ เพื่อฝึกการทำงานตามขั้นตอน โดยมีการช่วยเหลือกันในกลุ่ม อาทิ การแจกวัสดุอุปกรณ์ให้เพื่อน รวมถึงการฝึก สมาธิ ทักษะการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กร่วมกับการใช้สายตา
|
8. กิจกกรมผ่อนคลาย
|
เด็กเรียนรู้และฝึกการผ่อนคลายตนเองด้วยวิธีการผ่อนคลายกล้ามเนื้อทีละส่วน จากหัวจรดเท้า และจากเท้าจรดหัว ฝึกลมหายใจ โดยหายใจเข้าลึก ๆ หายใจออกช้า ๆ เป็นจังหวะ เพื่อก่อให้เกิดการผ่อนคลาย โดยทำตามผู้นำทีละขั้นตอน ในรายที่ทำเทคนิคข้างต้นไม่ได้ ใช้เทคนิคการให้แรงกดชนิดลึกแทน เพื่อก่อให้เกิดการผ่อนคลาย
|
การบริการที่ให้ ได้รับรายงานจากผู้ปกครองว่า เด็กพิเศษมีพฤติกรรมที่ดีขึ้นหลังจากเข้าร่วมกิจกรรมตามโครงการช้างบำบัด ผู้ปกครองมีความพึงพอใจต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสังคมด้านพฤติกรรมทางกาย อยู่ในระดับมากที่สุด ได้คะแนน 4.10 จากคะแนนเต็ม 5 และมีความพึงพอใจต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทางสังคมด้านพฤติกรรมทางวาจา และด้านพฤติกรรมการปรับตัว อยู่ในระดับมาก ได้คะแนน 3.89 และ 3.59 ตามลำดับ
นอกจากนี้ผู้ปกครองได้รายงานพฤติกรรมเด็กเพิ่มเติม หลังจากเข้าร่วมกิจกรรมโครงการช้างบำบัด ดังนี้
1. โดยปกติน้องเป็นคนกลัวง่าย กิจกรรมนี้ทำให้น้องสามารถปรับตัวในเรื่องความกลัวลงได้บ้าง และมีเพื่อนใหม่เพิ่มขึ้นอีกหลายคน (1 คน)
2. มีความเชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้น สร้างความเชื่อมั่นให้ตัวเองได้ดี เข้ากับเพื่อน ๆได้เร็ว และสามารถนำกลับไปเล่าต่อให้ผู้ปกครองฟังได้ (1 คน)
3. เด็กเข้ากับเพื่อนได้และอยู่ร่วมกับสังคมได้ดีขึ้น (1 คน)
4. กิจกรรมสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ (1 คน)
5. ร่วมกิจกรรมกลุ่มกับเพื่อน ๆ ได้บ้าง และรู้จักรอคอย (1 คน)
6. มีการรอคอยที่ดีขึ้น เชื่อฟังคำสั่ง มีความร่าเริงแจ่มใส และมีความกล้ามากขึ้น (1 คน)
7. เข้ากับคนอื่นได้ดีขึ้น และสมาธิดีขึ้น (1 คน)
8. สามารถเข้าร่วมกิจกรรมกับเพื่อนมากขึ้นกว่าวันแรกที่เข้าร่วมกิจกรรม (1 คน)





สำหรับผู้ที่สนใจจะสนับสนุนกิจกรรมของโครงการช้างบำบัด เพื่อประโยชน์ของช้างไทยและเด็กพิเศษ ตลอดจนชื่อเสียงของประเทศไทย บริจาคได้ที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคณะแพทย์ศาสตร์ เลขที่บัญชี 556-468746-4